www.mylovecondo-home.com รับตรวจคอนโด ตรวจบ้าน เริ่มต้นราคา 1,000 บาท โดยวิศวกรมืออาชีพ

4. เจ้าของห้องชุดมีกรรมสิทธิ์อะไรบ้าง?


        เจ้าของห้องชุดมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลที่เป็นของตนและมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง ทรัพย์ส่วนบุคคล ได้แก่ ตัวห้องชุดแต่ละห้องชุด และสิ่งปลูกสร้างที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย เช่น โรงเก็บรถยนต์ส่วนตัว ที่จอดรถส่วนตัว และที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละรายโดยเฉพาะ เช่น สวนหย่อม ที่ดินสำหรับทำครัว ปลูกต้นไม้ เป็นต้น เจ้าของห้องชุดแต่ละห้องชุด จึงมีสิทธิใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้แต่ผู้เดียว เจ้าของห้องชุดอื่นจะมาใช้ร่วมด้วยไม่ได้ นอกจากนี้ เจ้าของห้องชุดยังมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง ได้แก่ ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของอาคารชุด ตัวอาคารชุดนอกจากส่วนที่เป็นห้องชุด เช่น ฐานราก เสาเข็ม ดาดฟ้า และที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันของเจ้าของร่วมทุกคน เช่น สระว่ายน้ำ สนามกีฬาส่วนรวม ฯลฯ และทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ลิฟท์ บันได เครื่องปั๊มน้ำ หรือถังเก็บน้ำ เสาอากาศทีวีรวม เป็นต้น เฉพาะทรัพย์ส่วนกลางนี้เจ้าของห้องชุดทุกห้องมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางเหล่านี้ จึงสามารถใช้ทรัพย์ส่วนกลางร่วมกันได้ทุกคนเท่าเทียมกัน

5. อัตราส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางคืออะไร?


          เมื่อจดทะเบียนเป็นอาคารชุดแล้ว อาคารชุดนั้นจะมีทรัพย์สองส่วน คือ ทรัพย์ส่วนบุคคลและทรัพย์ส่วนกลาง โดยเจ้าของห้องชุดแต่ละห้องชุดจะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลและขณะเดียวกันก็มีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางด้วย กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลไม่มีปัญหาเพราะมาตรา 13 วรรคแรกระบุว่า เจ้าของห้องชุดมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคล แต่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางนั้นกฎหมายระบุว่า เจ้าของห้องชุดทุกห้องมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องระบุอัตราส่วนความเป็นเจ้าของทรัพย์ส่วนกลางไว้ให้แน่ชัดว่า เจ้าของห้องชุดแต่ละห้องชุดมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางอยู่เท่าไร ซึ่งมาตรา 14 ระบุว่า อัตราส่วนในกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางของเจ้าของร่วมให้เป็นไปตามอัตราส่วนระหว่างเนื้อที่ของห้องชุดแต่ละห้องชุดกับเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดนั้นในขณะที่ขอจดทะเบียนเป็นอาคารชุด
          เหตุที่กฎหมายบัญญัติให้กำหนดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางของห้องชุดแต่ละห้องชุดว่ามีอัตราส่วนเป็นจำนวนเท่าใดของจำนวนเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมดในขณะจดทะเบียนอาคารชุด เพราะเมื่อมีการจดทะเบียนเป็นอาคารชุดแล้ว โฉนดซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารชุดจะถูกเก็บรักษาไว้ตั้งแต่ขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนอาคารชุดให้ และโฉนดที่ดินดังกล่าวนั้นจะถูกนำมาใช้อีกเมื่อมีการจดทะเบียนเลิกอาคารชุด ในกรณีเช่นนี้ เจ้าหน้าที่ที่ดินจะต้องจดแจ้งในสารบัญจดทะเบียนของโฉนดเดิมนั้น โดยแสดงชื่อเจ้าของร่วมที่มีชื่อใคำขอเลิกอาคารชุดให้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดนั้นตามอัตราส่วนที่เจ้าของรวมแต่ละคนถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง

6. การประกอบการค้าในอาคารชุด 

ในกรณีที่มีการจัดพื้นที่ของอาคารชุดเพื่อประกอบการค้า ต้องจัดระบบการเข้าออกในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ไม่ให้รบกวนความเป็นอยู่โดยปกติสุขของเจ้าของร่วม และห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการค้าในอาคารชุด เว้นแต่เป็นการประกอบการค้าในพื้นที่ของอาคารชุดที่จัดไว้ดังกล่าวข้างต้น